ความสามารถในการรับมือกับปัญหา หรือ AQ - Adversity Quotient คืออะไร โดย ศศิมา สุขสว่าง - เก๋

 

 

Adversity Quotient  หรือ AQ คือ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ซึ่งเป็นการรวมความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจในการเผชิญหน้ากับปัญหา และการพยายามที่จะหาหนทางในการผ่านพ้นอุปสรรค  ปัญหาต่างๆ  บทความน่าจะมีประโยชน์กับคนทำงานที่ทำงานอยู่ในยุค New Normal ที่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างรวดเร็ว ไม่แน่นอน ผันผวน คลุมเครือ และต้องแก้ไขปัญหาเกือบทุกวันค่ะ  บทความนี้เป็นอีกบทความนึงที่ เก๋ตั้งใจเขียนและเรียบเรียงมากอีกบทความนึง Adversity Quotient  หรือ AQ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา เพราะโดยส่วนตัว เก๋เป็นคนทำงานสายนวัตกรรม สายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่

~ สาย R&D นั้นคือลูกค้า(ภายในและภานนอก) มีปัญหา งานมีปัญหา จึงมาหาเราให้ช่วยคิดอะไรใหม่ๆ หรือแก้ไขปัญหาให้

~ ผลิตภัณฑ์มีปัญหาจึงต้องมาถึง Innovator 

~ อยากได้อะไรใหม่ๆนวัตกรรมใหม่ๆ จึงมาถึงมือเรา 

อีกทั้งตอนที่เก๋ได้ทุนไปเรียนต่อเยอรมนีโดยไม่มีพื้นภาษาเยอรมันแค่เรียน 2 เดือนก่อนไปนอก ~ ไปเป็นผจก.ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นตอกเสาเข็มเริ่มจากศูนย์  รับผิดชอบโครงการพัฒนานวัตกรรมมากมายตลอดช่วงทำงานประจำ  6-7 ปีที่ผ่านมาออกมาเปิดบริษัทรับสัมมนาให้คำปรึกษาแนะนำของตัวเองโดยที่ไม่มี connection มากนัก  จวบจน 2~3 ปีที่ผ่านมามีวิกฤตโควิด ที่ต้องรับมือกับปัญหางานน้อย และผ่านพ้นมาได้อย่างดี และได้ให้คำปรึกษา สัมมนากับบริษัทต่างๆด้วย  เลยอยากเเบ่งปันด้วยบทความนี้ค่ะ

 

 Adversity Quotient  หรือ AQ คือ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา  เป็นหนึ่งใน Q ทั้ง 7 ตัว ซึ่งได้แก่

 

1. IQ  หรือ Intelligence Quotient  คือ ความฉลาดหรือความสามารถทางสติปัญญา ไหวพริบเชาว์ปัญญา ในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ ความจำ ความคิด และการใช้เหตุผล

 2. EQ หรือ Emotional Quotient ความฉลาดหรือความสามารถทางอารมณ์ ในการรับรู้  ทำความเข้าใจ และควบคุมอารมณ์ตนเองได้  เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ระงับโทสะ ความโกรธได้ ควบคุมตัวเองได้

3. CQ  หรือ  Creativity Quotient ความฉลาดหรือความสามารถในการริเริ่มสร้างสรรค์  คิดสิ่งใหม่ๆ จินตนาการหรือแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ

 4. MQ หรือ Moral Quotient ความฉลาดหรือความสามารถทางศีลธรรม จริยธรรม  รู้ผิดชอบชั่วดี

5. PQ หรือ Physical  Quotient ความฉลาดหรือความสามารถด้านร่างกาย  การเคลื่อนไหว การควบคุมร่างกายตัวเอง

6. SQ หรือ Social Quotient ความฉลาดหรือความสามารถทางสังคมที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น  การเปิดใจ รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ การสื่อสาร หรือทักษะด้าน Soft skill ที่จะทำให้ทำงานหรือใช้ชีวิตในสังคมได้

และ AQ หรือ Adversity Quotient  ที่เป็นเนื้อหาหลักของ บทความในวันนี้ และเป็นอีก Q หนึ่งที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน

7. AQ หรือ Adversity Quotient ความฉลาดหรือความสามารถในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการรวมความสามารถทั้งด้านร่างกายและจิตใจในการเผชิญหน้ากับปัญหา และการพยายามที่จะหาหนทางในการผ่านพ้นอุปสรรค ปัญหาต่างๆ  สามารถยืดหยุ่น  ปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาตัวเอง เพื่อให้สามารถเผชิญปัญหาได้ดี และมุมานะอดทน พยายาม เอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง ไม่ท้อถอยง่าย มองวิกฤตเป็นความท้าทาย หรือ เป็นโอกาสได้

 

 แต่ก่อน เรามักจะให้ความสำคัญกับ IQ และ EQ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตการทำงาน และการใช้ชีวิตสำเร็จ  แต่ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน คลุมเครือ ไม่แน่นอนทั้งในการทำงาน สังคม และชีวิต ที่เข้ามานั้น ทำให้การมี AQ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา การพยายาม การสู้ ความอดทน จึงเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญต่อคนทำงานค่ะ

 

 

ดร.พอล สตอลต์ (Paul G.Stoltz, Ph.D.) เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Adversity Quotient ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาความสามารถในการแก้ไขปัญหา และเผชิญกับปัญหา โดยเปรียบเทียบกับนักไต่เขา โดยแบ่งลักษณะของบุคคลได้ 3 รูปแบบ 

 

ลักษณะของบุคคล 3 รูปแบบ มีดังนี้

 

 แบบที่ 1 Quitter หรือกลุ่มคนที่ล้มเลิก

กลุ่มนี้จะมี AQ เวลาที่เจอปัญหาอุปสรรค ก็จะบอกว่ายากเกินไป ท้อถอยง่าย ปฏิเสธความท้าทาย  ไม่พยายามที่จะพัฒนาตัวเอง  เหมือนคนที่อยู่เชิงเขา เห็นภูเขาสูง (เปรียบเทียบเหมือนปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิต หรือการทำงาน) ก็จะรู้สึกว่า มันยากเกินไป เหนื่อยเปล่า แค่คิดก็ท้อแล้ว จะไม่พยาบาม ไม่ทดลอง และไม่เปลี่ยนตัวเอง   เป็นกลุ่มคนที่มี Fixed mindset สูง  ซึ่งเมื่อองค์กรต้องการเปลี่ยนแปลง ใช้ระบบใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือปรับ Digital transformation มาใช้ในองค์กร กลุ่มคน Quitter นี้ก็จะไม่พัฒนาตัวเอง ยังยึดอยู่กับความสำเร็จเก่าๆ หรืองานแบบเดิมๆ ส่งผลให้องค์กรปรับเปลี่ยนได้ยาก

 

แบบที่ 2  Camper หรือกลุ่มคนตั้งแคมป์  

กลุ่มนี้จะมีระดับ AQ ปานกลาง เมื่อมองเห็นภูเขาสูง ก็ยังมีความพายาม และความอดทนในการที่จะปีนเขา แต่พอปีไปได้สักพัก็อาจจะเหนื่อย ท้อ และพัก ตั้งแคมป์เพื่อตั้งหลัก   และอาจจะหยุด ล้มเลิกการปีนต่อไป ถ้าเปรียบกับคนในองค์กรจะเป็นลักษณะคนที่ทำงานกลางๆ  บางช่วงฟิตจัดผลงานดีวูบวาบ บางช่วง burn out ผลงงานก็ทรงๆทรุดๆ  ซึ่งทางองค์กร และหัวหน้าจะต้องดูแล กระตุ้น ให้กำลังใจ หรือมีแรงจูงใจ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนกลุ่มนี้เรื่อยๆ

 

แบบที่ 3 Climber หรือกลุ่มนักปีนเขา 

กลุ่มนี้มี AQ ในระดับสูง มักจะมีความกระตือลือล้น อดทน ปรับตัวเพื่อพิชิตยอดเขาสูง แม้จะเจอลมฝน ความชัน  แต่ก็มีเป้าหมาย และความพยายาม มีการปรับตัว หากลยุทธ์ที่จะไปสู่ยอดเขาให้ได้  กลุ่มนี้มักจะมีแรงบันดาลใจ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ถือว่าเป็นบุคคลากรที่มีคุณค่าขององค์กร แต่ถ้าหากไม่ดูแลให้ดี คนกลุ่มนี้ก็อาจจะไปหายอดเขาที่อื่นปีนก็ได้  

 

ซึ่งใน ความสามารถในการรับมือกับปัญหา หรือ AQ (Adversity Quotient)  นั้น ดร.พอล สตอลต์ (Paul G.Stoltz, Ph.D.)  ได้เขียนแนวทางไว้ดังนี้

 

 

 

Level 1 CORE AWARENESS การตระหนักรู้และเข้าใจความสามารถความสามารถในการรับมือและเผชิญหน้ากับปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ผ่านสถานการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาในชีวิต ซึ่งมีรายละเอียดของ CORE ดังนี้

 

C = Control การควบคุม

การควบคุมมี 2 ด้านคือ ด้านแรก เราสามารถจัดการสถานการณ์ในเชิงบวกได้มากน้อยเพียงใด ด้านที่สอง เราสามารถควบคุมการตอบสนองของเราเองต่อสถานการณ์ได้มากน้อยเพียงใด  การควบคุมนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับ (1) ความสามารถในการรับรู้ของเราในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ และ (2) ความสามารถในการตอบสนองของเราซึ่งเป็นความสามารถในการควบคุมตอบสนองต่อสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเอง  ตัวอย่างเช่น  วิลล์ สมิธ ตบหน้า คริส ร็อก บนเวทีออสการ์ 2022  กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก และทำให้ตัวเขาเองนั้นเสียใจจนบัดนี้ ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จุดนี้ คือขาด Control     กลับมาที่ตัวเรา เมื่อมีคนว่ากล่าว ด่าทอ หรือ มีคน complain เรา ทั้งในชีวิตการทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว   เราจะสามารถจัดการสถานการณ์นั้นในเชิงบวกได้อย่างไร หรือ เราจะควบคุมตัวเองต่อสิ่งเร้าเชิงลบแบบนั้นอย่างไร หรือเราจะเข้าไปตบ ทำร้ายคนที่กำลังทำสิ่งแวดล้อมเชิงลบใส่เรา  นี่คือ C Control การควบคุมตัวที่ 1 ว่าเราอยู่ระดับใด

สิ่งที่กำหนด :

ความยืดหยุ่น ,สุขภาพ และแรงใจ

 

 

O = Ownership ความเป็นเจ้าของ

ความเป็นเจ้าของจะช่วยให้เราสามารถระบุความรับผิดชอบและสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งส่งผลไปถึงการที่เราต้องมีการปรับปรุงพัฒนาสถานการณ์ที่ส่งผลถึงอนาคตได้ เช่น ในองค์กร เกิดปัญหา หรือการเปลี่ยนเเปลงขึ้น แล้วทุกๆคนในทีม ร่วมกันคิดวิเคราะห์ปัญหา หาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะตระหนักว่า เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน และเป็นหน้าที่จะต้องที่จะช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อให้พันปัญหาไปได้  หรือเราจะรับผิดชอบแค่หน้าที่ของเรา ไม่ทำเกินหน้าที่ ไม่เหนื่อยเพิ่ม นี่คือ O = Ownership ความเป็นเจ้าของ เราจะเป็นเจ้าของแค่งานของเรา หรือเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบสุดความสามารถเท่าที่ทำได้ ช่วงวิกฤติต่างๆ เราจะเห็น O ตัวนี้อย่างชัดเจน

สิ่งที่กำหนด :

รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย (responsibility),รับผิดชอบต่อผลการการกระทำของตัวเอง (accountability) การผูกพันธ์หรือผูกมัด (Engagement)

 

 

R = Reach การเข้าถึงเข้าใจผลกระทบที่จะมาถึง 

การเข้าถึงเข้าใจผลกระทบของปัญหาว่า มีผลกระทบ ผลเสีย  อะไรบ้าง และสามารถควบคุมอารมณ์ด้านลบ สามารถควบคุมผลกระทบและความเสียหายต่อการทำงาน หรือการดำรงชีวิต เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมาก็สามารถรับมือได้  ไม่จมอยู่กับปัญหา และพยายาม จัดการกับปัญหา   ถ้าคนมี AQ ในมิติด้านนี้ต่ำ จะมองปัญหาหรืออุปสรรคเป็นสิ่งที่บั่นทอนชีวิต ตรูอีกแล้ว นอนไม่หลับ เสียใจ เศร้าใจ ส่งผลไปถึงการทำงาน แต่ถ้ามี AQ สูง จะมีความพยายาม มีพลังงาน ในการทำความเข้าใจปัญหาและผลกระทบและพยายามหาแนวทางการแก้ไข หรือก้าวข้ามอุปสรรค

สิ่งที่กำหนด :

ภาระ,ความเครียด,พลังงาน, ความพยายาม

 

 

E=Endurance ความอดทนต่อปัญหา

การรับรู้และอดทนต่อปัญหา   อึด และสามารถรับมือกับปัญหาได้นาน เข้าใจว่าปัญหาหรืออุปสรรคจะผ่านพ้นไป สามารถหาแนวทางแก้ไขได้ สามารถพัฒนาตัวเอง ฝึกฝน หรือมองปัญาหเป็นความท้าทายได้  คนที่มี AQ ด้านนี้ต่ำ จะสิ้นหวัง ไม่พยายามแก้ไขปัญหา ยอมจำนนกับปัญหา หรือผัดวันประกันพรุ่ง  เป็นต้น

สิ่งที่กำหนด :

ความหวัง การมองโลกในเเง่ดี และความเต็มใจที่จะยืนหยัดต่อสู้กับปัญหา 

 

 

 

จากนั้นมาถึง  Level 2 The LEAD Consequence   Level  2 นี้มุ่งเน้นไปที่รูปแบบการแก้ปัญหาแบบมีประสิทธิภาพ  ด้วย LEAD Consequence ซึ่งจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดี มีความชัดเจน และแข็งแกร่งขึ้น นำไปสู่การประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา  โดยมีรายละเอียดของ LEAD ดังนี้

L = Listen to your CORE response การฟังเข้าไปข้างใน Core

ฟังเข้าไปข้างใน CORE ของเราเพื่อให้ตระหนักว่า ขณะนี้มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรที่เกิดขึ้นกับเราบ้าง และเราจะต้องตอบสนองกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร  ความเข้มข้นระดับไหน จึงจะแก้ไขปัญหานั้นได้ เป็นการฟังเข้าไปให้ถึง AQ ในมิติของ CORE ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และการตอบสนองของตัวเองแล้วประเมินตัวเองได้

 

E = Establish Accountability กำหนดความรับผิดชอบ

การกำหนดความรับผิดชอบ เมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น เราจะต้องประเมินว่า สิ่งใดหรือสถานการณ์อะไรที่เราสามารถรับผิดชอบ แก้ไข ควบคุม ได้  สถานการณ์ได้ที่นอกเหนืออำนาจ ความรับผิดชอบ ความสามารถของตัวเรา แล้วดูแนวทางการแก้ไขที่เป็นไปได้ 

 

A = Analyze the evidence วิเคราะห์หลักฐาน

เป็นการวิเคราะห์หาหลักฐาน หรือสิ่งแวดล้อมว่า อะไรบ้างที่ควบคุมได้ อะไรที่อยู่เนหือการควบคุม วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา และศักยภาพ ความสามารถของเราเองเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

D = Do Something ลงมือดำเนินการ

การลงมือดำเนินการ หรือแก้ปัญหาเพื่อให้ปัญหาหมดไป หรืออุปสรรคที่มีอยู่ลดน้อยลงไปให้มากที่สุด  เป็นการเลือกวิธีการและแนวทางการแก้ไขต่างๆ

 

 

 

ในการพัฒนาตัวเอง การพัฒนานวัตกรรมนั้น เรามักจะต้องเจอปัญหาบ่อยๆที่ต้องแก้ไข  ยิ่งคนที่พัฒนานวัตกรรม คือคนที่ต้องบุกตะลุย เข้าไปทำความเข้าใจปัญหา แล้วคิดหาวิธีการใหม่ๆ หรือแนวทางใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ลุล่วงไปได้ ดังนั้น IQ, EQ เพียงอย่างเดียวไม่พอแล้วค่ะ ยุคนี้ต้องมีความอึด ทึก ทน อดทน ขาลุยด้วยค่ะ จึงจะฟันฝ่าไปได้ นี่เอาประสบการณ์มาพูดเลยนะคะ อิอิ

 

 เก๋หวังว่า บทความนี้จะช่วยมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจวิธีการ แนวคิดในการนำความรู้ไปพัฒนาพัฒนาตัวเอง ทีมงาน และประสิทธิภาพการทำงานนะคะ เป็นกำลังให้อึด ฮึด สู้กับทุกสถานการณ์ที่ถาโถมเข้ามาค่ะ

 .......................

- สนใจหลักสูตร " Growth Mindset for Performance Working กรอบแนวคิดเชิงเติบโตเพื่อประสิทธิภาพการทำงาน" วิทยากร อ.ศศิมา สุขสว่าง ดูรายละเอียด กดที่นี่ 

- สนใจหลักสูตรอื่นๆ ในการพัฒนานวัตกรรมและพัฒนาองค์กร  ดูรายละเอียดทั้งหมด กดดูที่นี่ 

(ต้องการ รายละเอียดหลักสูตรฉบับเต็ม พร้อม ใบเสนอราคา ขอความกรุณาอีเมล์มาที่ sasimasuk.com@gmail.com หรือ Line ID: sasimasuk.com อ.เก๋เช็คอีเมล์และ Line ทุกวันค่ะ)

.............................

อ้างอิง :

หนังสือเรื่อง Adversity Quotient at work เขียนโดย Paul G.Stoltz, Ph.D.

 

 .......................

Creative to Innovation เป็นพื้นที่แบ่งปันและแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกระบวนการและเทคนิคการคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรม  โดยถ่ายทอดจากประสบการณ์การทำงานด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ให้คำปรึกษา การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ตลอดจนการสอนด้านการพัฒนานวัตกรรมของผู้เขียน (ศศิมา)  ซึ่งเป็นนักพัฒนานวัตกรรมหรือนวัตกร (Innovator)  และผันตัวมาแบ่งปัน อบรมสัมมนาให้คำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรม  โดยการอบรมสัมมนาจะยึดหลัก 3Fs - Fun (สนุก) -Full (เต็มไปด้วยสาระ) - Friend (มิตรภาพการทำงานเป็น Team Work)

.................................

ศศิมา สุขสว่าง จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก Dresden University of Technology (https://tu-dresden.de) ประเทศเยอรมนี  ทำงานด้าน  Research & Development Engineer  และนักวิจัยมาโดยตลอด จนได้มาเป็นผู้ก่อตั้งและบริหารศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ของ THTI กว่า 15  ปี และได้รับการอบรมด้านโค้ชทั้ง Mindfulness Coaching, Life Coach , Talent Coach และ NLP Coaching จากสถาบันสอนการโค้ชที่ได้รับการรับรองระดับสากล ปัจจุบันศศิมาเป็น วิทยากร ที่ปรึกษา และ Innovation Coach ที่มีความสุขและมุ่งมั่นที่แบ่งปันเรื่องพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างคุณค่าให้ผู้คน 

...........................................

ติดตามข่าว เรื่องความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และนวัตกรรม หรือติดต่อวิทยากรอบรม In-House training หลักสูตรความคิดสร้างสรรค์  การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม (Product Development and Innovation) ได้ที่

ศศิมา สุขสว่าง (เก๋)

E-mail : sasimasuk.com@gmail.com

Website : www.sasimasuk.com

line ID : sasimasuk.com 

Facebook : https://www.facebook.com/CreativetoInnovation

Tel. : 081-560-9994 

Visitors: 329,125